top of page
tclhcu2018

บทความพิเศษ “บุญคุณข้าวต้มชามแรก”ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี


หนึ่งในวลีของจีนที่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงเคยได้ยิน และหยิบยกมาพูดกันก็คือ “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ”

.

ในที่นี้ขออนุญาตหยิบยกเฉพาะท่อนแรก อย่างการทดแทนบุญคุณมาบอกเล่าเรื่องราว เพราะมีส่วนอย่างมากในต่อยอดไปสู่การสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน 

.

หากเอ่ยถึงองค์กรสาธารณกุศลที่อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานมากกว่า 114 ปี มีส่วนในการช่วยเหลือผู้คนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนช่วยสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน ก็คือ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”

.

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บุคคลสำคัญที่ให้เกียรติมาร่วมบรรยาย และเป็นผู้มอบใบประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน (วทจ. รุ่น 6) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เล่าให้ฟังถึงความผูกพันที่มีต่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในหัวใจอย่างไม่มีวันลืม

.

“ถือเป็นปณิธาน อะไรที่สามารถตอบแทนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ พร้อมที่จะทำทุกเรื่องเลย”

.

ท่านเองในฐานะเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูล และได้ใช้ชีวิตครอบครัวอยู่ในไทย เล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งที่บรรพบุรุษเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ก่อนจะมาลงหลักปักฐาน ต่างได้รับความเมตตาและการช่วยเหลือจากทางมูลนิธิฯ 

.

“ข้าวต้มชามแรก” ทันทีที่คุณทวดเดินทางรอนแรมมาถึงฝั่งไทย การได้ทานข้าวต้นร้อน ๆ ช่วยเติมทั้งพลังกายและพลังใจให้เดินหน้าต่อได้เป็นอย่างดี

.

คุณทวดผู้หญิงอีกท่านที่ตัดสินใจเดินทางจากจีนตามมาอยู่ไทย ในวัย 80-90 ปี หลังลูกหลานทุกคนเรียนจบ ก็ได้รับความช่วยเหลือนั้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งต่างออกไป ตรงที่มูลนิธิฯ ส่งข้าวต้มมาดูแลตลอดทั้ง 3 มื้อ เป็นเวลานานร่วมเดือน เนื่องจากบังเอิญมีผู้ป่วยตาแดงบนเรือ จึงต้องพักรักษาตัวกันให้หายดีก่อน

.

จุดนี้เองเป็นสิ่งที่คุณทวดจดจำมาโดยตลอดว่าเป็นความเมตตาของมูลนิธิฯ และท่านเองก็คอยปลูกฝัง คอยพร่ำบอกลูกหลาน เพราะด้วยวัฒนธรรมจีนยึดถือเรื่องบุญคุณต้องตอบแทน ส่งต่อกันมายาวนานนับพันปี

.

พอค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา ทุกครั้งที่คุณพ่อและคุณแม่ทำงานหาเงินมาได้ จะเก็บบางส่วนที่เหลือไว้ใส่ซอง สิ้นปีจึงค่อยนำไปทำบุญกับทางมูลนิธิฯ

.

ตัวท่านเองจำได้ขึ้นใจ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้จึงเป็นที่มาของการตั้งปณิธาน หากสิ่งใดที่จะพอตอบแทนมูลนิธิฯได้ พร้อมที่จะทำทุกเรื่องเลย

.

หลายครั้งที่มีโอกาสได้บอกต่อเรื่องราวของการทำบุญ การทำความดี อยากให้ทุกคนทำไปเถอะ ทำเดี๋ยวนี้ ไม่อยากให้รู้สึกว่าการทำบุญต้องทำเป็นก้อนใหญ่ หรือรวยแล้ว ไม่งั้นบางคนก็ต้องรอ ไม่มีโอกาสได้ทำกันพอดี 

.

ดังนั้นจะรวยหรือจน ต่างก็ทำบุญได้ อาจจะไม่ต้องออกเงินออกทอง ออกแรง หรือออกความคิดแทนก็ได้

.

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวพื้นฐานของความมีน้ำใจ ซึ่งคำว่า “มีน้ำใจ” ก็คงไม่มีใครแปลได้ลึกซึ้งเท่ากับภาษาไทย เป็นลักษณะเฉพาะของชุมชน สังคมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน

.

กล่าวได้ว่าเป็นเหมือนสิ่งที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย หากลองศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์บ้านเมือง วัฒนธรรมของชนชาติ และวิถีชีวิตคนปัจจุบัน แล้วเราจะเข้าใจ 

.

ถึงขั้นมีการไปศึกษาวิจัยชุมชนไทยที่กระจายอยู่ใน 6 ประเทศ มีอยู่ 3 ประโยค ที่มักจะพูดเหมือนกัน

.

เราเป็นพี่น้องกัน เรามีน้ำใจต่อกัน และเราต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

.

หากใครที่ยึดถือ 3 ประโยคข้างต้นได้ หรือไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน หน่วยงานไหน รับรองมีแต่ความอบอุ่น ความเจริญก้าวหน้า ไม่มีอุปสรรคใดที่จะมาขวางกั้น

.

มีความสุขในการให้ ยิ่งให้ยิ่งได้ ทำให้ส่วนรวมดีขึ้น ซึ่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นสมาชิก เราก็พลอยได้ไปด้วย

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


bottom of page