ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ละประเทศต่างมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แนวคิด แนวโยบาย ตลอดจนผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป
.
หากเปรียบเทียบดูแล้ว ประเทศก็คล้ายกับคน ๆ หนึ่ง ถ้าเรารู้จักคนนี้ดี รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาเก่งอะไร เราสามารถเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนอะไรกับเขาได้บ้าง ก็ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะลองคบหากัน
.
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเรารู้และเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ครอบคลุมในทุก ๆ มิติ ย่อมได้เปรียบและทำให้คบค้าสมาคมกันได้แบบยาว ๆ
.
จีน เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทอย่างมากในเวทีโลก มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่มหาศาล ที่สำคัญมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งหากมองว่าเป็นข้อได้เปรียบก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก
.
นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน (วทจ.) โดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจีน ผ่านเหล่าวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญผู้คร่ำหวอดที่เรียกได้ว่าตัวจริงเสียงจริง ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนกันมาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว
.
“เข้าใจ แต่ไม่ต้องเข้าข้าง” รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวเริ่มต้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไทยรวมถึงประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถอยู่โดยลำพังได้ ท่ามกลางแนวคิดหรือการแบ่งฝ่ายของชาติมหาอำนาจที่มีมาอย่างยาวนาน
.
ดังนั้นการที่เราต้องเรียนรู้ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสามารถวางตัวได้อย่างถูกต้อง เป็นกลาง สามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเอาไว้ได้
.
ส่วนการที่ต้องหันมาโฟกัสหรือให้ความสำคัญกับจีนมากขึ้น นั่นเป็นเพราะจีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติ ในขณะที่ไทยเองทั้งที่มีความใกล้ชิด เรากลับรู้เรื่องของจีนน้อยมาก
.
หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมศึกษา สามารถนำไปปรับใช้ในภาคธุรกิจของตนเอง หรือแม้แต่นำไปใช้ในระดับเชิงนโยบาย เพื่อวางกลยุทธ์ทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือความก้าวหน้าทางวิชาการ เพราะผู้ที่เข้าร่วมหลักสูตรมาจากหลากหลายวงการ รวมถึงบางคนเป็นผู้ใหญ่ของประเทศ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
.
แน่นอนว่าอย่างน้อยจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ทำให้ง่ายต่อการตั้งรับเพื่อเผชิญกับสถานการณ์ในทุกรูปแบบ
.
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของสถาบันวิทยาการผู้นำไทย-จีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในฐานะของสถาบันการศึกษา ถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป็นรากฐานให้บุคคลได้พัฒนาสติปัญญา นำความรู้ที่มีไปพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม ตลอดจนประเทศชาติ
.
มากไปกว่านั้นยังหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อ ช่วยสื่อสารส่งต่อความเข้าใจไปถึงจีน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
Commentaires